Thursday, August 18, 2011

กระแสอินดี้ อาจารย์โรงเรียนแพทย์ อาจารย์พรีคลินิก และอื่นๆ

คราวที่แล้ว เราว่ากันถึงกระแสหลักของแพทย์ที่จบ พ บ ในเมืองไทย (จริง ก็คงเหมือนๆ กันเกือบๆ จะทั่วโลกแล้ว) ก็คือ ดูตัวเอง ว่าจะเป็นหมอทั่วไป หรือ หมอเฉพาะทาง และจะเทรนที่ไหน เมื่อไหร่ พอจบ ก็ว่ากันไป จะอยู่โรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน หรือมีคลีนิกส่วนตัว หรือ จะควบสองกะ สามกะ

แต่ก็ยังมีหมอ น่าจะประมาณร้อยละสิบ ไม่เลือกกระแสหลัก แต่อยากจะเป็นอินดี้ ก็เลยเลือกที่จะไปอยู่ตามที่แปลกๆ เช่น เป็นอาจารย์พรีคลินิก หรือ เป็นอาจารย์ใรงเรียนแพทย์ ในภาคคลินิก แต่พวกนี้ก็เหนื่อย บางทีก็วิ่งรอก คลินิก หรือ โรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้พอเลี้ยงปากท้องและครอบครัว แต่ก็รักจะสอน จะวิจัย เป็นสำคัญ (อันนี้สำคัญมากนะครับ สำหรับคนที่อยากจะเข้ามาตรงนี้) แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปหน่อย ทุกวันนี้ เพราะนโยบายเพิ่มแพทย์ ทำให้มีการรับนักเรียนเพิ่มขึ้น และสถานที่ฝึกงานจึงต้องเพิ่มขึ้น หลายโรงพยาบาลกลายเป็นสถาบันสมทบผลิตแพทย์เพิ่มไป หมอในโรงพยาบาลนั้นก็กลายเป็นอาจารย์แพทย์ไปในตัว ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ต่อการผลิตแพทย์ และต่อแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลนั้นๆ ถ้าด้วยความที่ไม่อยากจะสอน ไม่อยากจะทำ กลายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น แค่ไอ้งานคุณภาพที่บูมมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ก็จะกลายเป็นอยู่ไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งโรงเรียนแพทย์ใหม่แห่งหนึงในภาคเหนือตอนกลาง ประสบมา ตอนก่อตั้งใหม่ๆ

อาจารย์พรีคลินิก หรือบางคนอาจจะไปอยู่ในคณะที่เป็นวิทยาศาสตร์เลย ก็มี เช่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งไม่ได้จำกัดแต่สอนแพทย์ หรือ คณะวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่ไม่ขึ้นหรือเกี่ยวกับคณะแพทย์เลย หรือเป็นหน่วยงานที่ทำวิจัยเป็นหลัก เช่น คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ สถาบันวิจัยต่างๆ แต่อย่างไรก็ดี ก็มีความจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมหรือศึกษาเพิ่มเติม แต่อาจจะเป็นในรูปแบบที่ต่างออกไป เป็นการฝึกอบรมเน้นวิจัย เช่น เรียนปริญญาเอก แต่ก็มีหลายคนที่ฝึกอบรมแบบกระแสหลัก และด้วยชอบงานวิจัย และงานสอน หรือหาตำแหน่งในภาคคลินิกไม่ได้ (แต่ก็ควรจะชอบสอนและวิจัยนะ) ก็เลยอยู่ภาคพรีคลินิก และอาจจะมีงานคลินิกควบคู่ไปด้วย ก็มีให้เห็นประปราย

อาจารย์ในภาคคลีนิก มักจะต้องได้รับการอบรมเพิ่มเติมพิเศษจาก การอบรมทั่วไป อย่างน้อย ก็ต้องเป็นอนุสาขาในประเทศ แต่มักจะต้องไปรับการฝึกอบรมเพิ่มเติมโดยเฉพาะการวิจัย ในต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้ตายตัว บางคนก็อบรมในประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยแพทย์ใหม่ๆ ที่อาจจะแค่ขาดผู้เชี่ยวชาญในอนุสาขา ยังไม่ได้มีการลงลึกหรือเน้นงานวิจัยมากนัก บางคนก็เทรนในต่างประเทศแล้วกลับมาทำงานในโรงเรียนแพทย์ก็มี บางท่านได้รับตำแหน่งวิชาการมาจากต่างประเทศเลยเสียด้วยซ้ำ

ผมยังไม่ได้พูดถึงพวกหมอทหาร ซึ่งเขาก็มีการใช้ทุน แต่เป็นโรงพยาบาลของเขาเอง และระบบการขอทุน การกลับมาเรียนก็จะเป็นวงของเขาเอง ถ้าเขาต้องการเทรนในสังกัดและอยู่ในโรงพยาบาลสังกัดของเขาเอง คนนอกก็เข้าไปในระบบได้ มีหลายคนที่รู้จักก็ไปใช้ทุนในโรงพยาบาลทหาร และเอาทุนมา ก็อาจจะถูกจัดสรรไปทำงาน ในโรงพยาบาลทหารในระดับต่างกัน แต่มักจะเป็นเรื่องของตำแหน่งในสายทหาร อาจจะมีอิทธิพลมากกว่าความจำเป็นทางวิชาการ อย่างคนที่ผมเคยรู้จัก ก็เป็นหมอผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ เอาทุนมาจากต้นสังกัด และสมควรกลับไปเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ทหาร แต่กลับต้องไปอยู่ในโรงพยาบาลในต่างจังหวัดอยู่หลายปี ก่อนได้ย้ายกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ อันนี้ก็ต้องดูทางหนีทีไล่กันอย่างหนักหน่วง เลย เพราะสายทหารนี่เขี้ยว และเส้นสายหนักไม่ใช่เล่น ถ้าพูดกันตรงๆ หาทุนกลับมาเรียนค่อนข้างยากตามที่ได้ยินมา และแบ่งเส้น เป็นทหารแต่ละเหล่าทัพอีก แต่ใครอยากมียศ เป็นทหาร ก็ดูโก้ เก๋ เป็นทางเลือกที่ดี และเป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด

หน่วยงานสังกัดอื่นๆ ที่น่าสนใจ ก็ยังมี ของ กรุงเทพมหานคร ซึ่ง ก็มีงานใช้ทุนในสำนักอนามัย กรุงเทพ ซึ่งถือว่าค่อนข้างเบา และมีทุนให้ไปเรียน ใช้ทุนในโรงพยาบาลในสังกัดของกรุงเทพมหานคร เช่น โรงพยาบาลนพรัตน์ โรงพยาบาล ตากสิน เป็นต้น

งานระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
และงานอื่นๆ ในกระทรวง บทบาทด้านสาธารสุขของแพทย์
อีกทางเลือกของแพทย์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องตรวจโรค
อีกสายหนึ่งคือ สายงานในกระทรวงสาธารณสุข อันนี้ก็มีน้องๆ ที่รู้จักใช้ทุนโดยไปทำงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวง (แต่ไม่แน่ใจในรายละเอียดครับ ไว้จะลองถามดู) เช่น กองระบาดวิทยา หรือหน่วยงานอิสระ เช่น สำนักวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งก็มีทุนให้เรียนต่อ ซึ่งอาจจะทำปริญญาเอกด้านระบาดวิทยา หรือ ด้านสาธารณสุข หรือบริหาร ก็ว่ากันไป และกลับไปเติบโตต่อในกระทรวง บางคนก็ไปโตในสายสาธารณสุขจังหวัดในที่สุด และก็เข้ากระทรวงมาเป็นอธิบดี สิ้นสุดที่ปลัดกระทรวง ซึ่งต้องทำงานภายใต้นโยบาย ฉวัดเฉวียนเปลี่ยนไปมาตามรัฐมนตรีแต่ละคน แต่ละรัฐบาล ก็เป็นงานที่ท้าทายน่าสนุก และได้ทำอะไรให้ประเทศชาติ เช่นเรื่องประกันสุขภาพ งานด้านเวชศาสตร์ป้องกัน เฝ้าระวัง ซึ่งประเทศไทย ก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง คนที่ชอบงานลักษณะนี้ ก็อาจจะดูไว้เป็นทางเลือกอันหนึ่งได้

สำหรับทางเลือกอื่นของชีวิต ก็คงไม่จำกัด หมอจะไปทำอะไรก็ไม่แปลก จะเป็นนักกฎหมาย ผู้พิพากษา (เพื่อนผมสอบได้เนติบัณฑิตไทยแล้ว) จะไปเป็นนักธุรกิจ (เช่น คุณหมอเจ้าของกิฟฟารีน ที่แยกมาจากธุรกิจสุพรีเดิร์ม) หรือเข้าวงการบันเทิง (เช่น หมอก้อง ดาราช่องสาม) หรือเล่นการเมือง (ไม่อยากจะเอ่อยนาม อ้อ มหาธีร์ นายกมาเลเซียก็แล้วกัน) หรือ นักวิชาการอิสระ (หมอประเวศ) หรืออะไรก็ทำได้ทั้งนั้นเลยครับ แต่ขออย่างเดียว อย่าใช้ความเป็นหมอทำให้วิชาชีพเสื่อมเสีย เท่านั้น (เหมือนที่บางคนชอบทำอยู่) ถ้าจะทำอะไรที่มันไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นหมอ ก็อย่าได้ใช้ชื่อ ใช้อะไรที่ให้คนคิดว่าเป็นหมอเลยครับ

หมอก้อง บัณฑิตจาก พระมงกุฎ ดาราช่องสาม


2 comments:

  1. คนเหล่านี้ไม่ใช่อินดี้ แต่เป็นผู้เสียสละตน และได้สร้างสรรความรู้วิทยาทานแก่แพทย์รุ่นต่อๆไปนะครับ

    ReplyDelete
  2. กระแสอินดี้ แปลว่ากระแสรองไม่ใช่กระแสหลัก เพราะคนกระแสหลักคือคนส่วนใหญ่ไม่ใช่อาจารย์โรงเรียนแพทย์ คำว่าอินดี้ จึงไม่ได้มีความหมายแง่ลบหรือบวกเป็นคำกลางตามความของมัน ผมก็เป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ และผมก็เป็นอินดี้ครับ

    จากผู้เขียนบล็อก

    ReplyDelete