Saturday, August 20, 2011

การใช้ทุน และการเรียนต่อ มีทุน หรือ อิสระ

คราวที่แล้วเราเล่ากันว่า หมอในเมืองไทย (เหมือนกันทั่วโลก) มีแนวโน้มจะเรียนต่อเป็นหมอเฉพาะทาง อย่างไรก็ตามเมื่อสามสิบเก้าปีก่อน คือ ปี สองพันห้าร้อยสิบห้า ประเทศไทยได้ริเริ่มการให้แพทย์ออกไปใช้ทุนในชนบทเป็นเวลาสามปี ตอนนั้นมีทั้งทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท ตรงนี้คนที่เรียนแพทย์หรือไม่ได้เรียนแพทย์เองอาจจะสงสัยว่าทำไมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ถึงต้องออกไปชดใช้ทุน ทุนของใครได้มาเมื่อไหร่ แล้วทำไมวิศวกร สถาปนิก ถึงไม่ต้องชดใช้ทุน ความจริงก็คือ ค่าใช้จ่ายรายหัวที่แท้จริงในการผลิตแพทย์นั้น ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับการผลิตบุคลากรสายอื่น อีกทั้งใช้เวลานานกว่าคือหกปี หากคิดค่าหน่วยกิตหรือค่าเทอมตามจริงแล้วจะแพงมาก เหมือนที่ ม รังสิต คือตกปีละเกือบหนึ่งล้านบาท อันนี้คงบวกกำไรแล้ว แต่อย่างไรค่าใช่จริง ก็เป็นหลายแสนอยู่ต่อปี ในขณะที่ผู้เรียนโรงเรียนแพทย์ของรัฐบาลเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่านี้มาก เพราะรัฐเป็นฝ่ายรองรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ ซึ่งก็มาจากภาษีของประชาชนอีกที ดังนั้นก็สมเหตุสมผลที่กำหนดให้แพทย์ออกไปชดใช้ทุนในระยะเวลาที่กำหนดเป็นอย่างน้อย และมีการปรับเป็นเงิน สี่แสนบาทในสมัยนั้น หากลาออกก่อนกำหนดเวลา

อย่างไรก็ตาม ก็พบว่า ก็ยังมีแพทย์กลุ่มหนึ่งยินยอมชำระเงินเพื่อลาออก ก่อนเวลา ต่อมาเมื่อไม่นานมานี้ ภายในช่วงสิบปี เพื่อแก้วิกฤตการขาดแพทย์ในชนบท แพทยสภาก็งัดอีกมาตรการออกมาใช้ คือ สำหรับคนที่ต้องการจะฝึกอบรมในสาขาต่างๆ (ไม่ใช่สาขาขาดแคลน) จำเป็นต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะ คือ การใช้ทุนในปีแรก เป็นอย่างน้อย และในบางสาขายังอาจกำหนดว่าต้องใช้ทุนเพิ่มอีกเป็นเวลาหนึ่งหรือสองปี คือจนครบนั่นเอง และประกอบกับแพทย์ที่ใช้ทุนครบ จะมีสิทธิขออนุมัติจากต้นสังกัด (ที่เรียกว่าเอาทุน) เพื่อไปสมัครเรียนได้ ซึ่งโดยทั่วไป จะง่ายกว่า ผู้สมัครที่ไม่มีต้นสังกัด (ที่เรียกว่าอิสระ หรือฟรีเทรน) ซึ่งแพทยสภาจะกำหนดโควต้าว่ามีได้สถาบันละกี่คน และสถาบันต้องจ่ายเงินเดือนให้แพทย์กลุ่มหลังนี้เอง

แต่กระนั้น ก็ยังมีแพทย์ที่ลาออก ก่อนเวลา แม้จะอยู่ผ่านปีแรก เพื่อให้ได้สิทธิสมัครเรียน แต่ก็อาจจะออกไปทำงานเอกชน หรือที่ใกล้บ้าน ในเมือง หรือเตรียมไปเรียนต่างประเทศ ทำให้มีแพทย์ที่เหลือในระบบใช้ทุนจริงๆ อาจไม่ถึงกึ่งหนึ่ง สถานการณ์ยิ่งแย่กว่าเดิม คือ แม้แพทย์ที่เอาต้นสังกัดไปเรียนต่อเฉพาะทาง ก็มีส่วนหนึ่งที่ถึงเวลาแล้วก็ไม่ได้กลับไปทำงานตามต้นสังกัด โดยส่วนมาก จะเป็นเพราะต้นสังกัดอาจเป็นโรงพยาบาลชุมชน ทำให้ต้องตรวจทั่วไปด้วย หรือ ต้องการย้ายเข้าเมืองหรือที่ใกล้บ้าน ลาออกไปเอกชน หรือ ไปเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ นับเป็นความสูญเสียด้านเวลา ทรัพยากร และแผน หรือโอกาสของแพทย์ ประชาชน และประเทศ และเป็นความผิดของทุกฝ่ายที่ต้องหันมามองว่าจะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม

รัฐ และกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการอื่น นอกจากการลงโทษ หรือจำกัดสิทธิด้วยเรื่องทุนหรือค่าใช้จ่าย เช่นการให้ค่าตอบแทนในการอยู่เวร เพิ่มขึ้น เบี้ยกันดาร ค่าตอบแทนไม่ทำคลินิก หรือชมรมแพทย์ชนบทมีการเดินสายสัญจรเพิ่มพูนความรู้วิชาการ (ร่วมกับราชวิทยาลัยต่างๆ) มีการคัดสรรแพทย์ชนบทดีเด่น แต่อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญในการทำให้แพทย์อยู่ในที่ต่างๆได้ ก็คือ การพัฒนาความเจริญให้ทั่วถึง ให้ประชาชนมีความรู้ มีสุขอนามัยที่ดี ไม่ใช้บริการการแพทย์ พร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น ทำให้ภาระงานแพทย์ไม่มากเกินไป การเสริมความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างแพทย์กับผู้มารับบริการ เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้อง ค่าตอบแทนตามภาระงาน เพื่อให้แพทย์อยู่ได้ ไม่รู้สึกเปรียบเทียบกับแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนมากจนเกินไป หมอหล่ายคนก็ยังยินดีอยู่ในระบบราชการ เพื่อประชาชน แต่จริงๆ แล้ว เรื่องการพัฒนาในแง่เหล่านี้กลับไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ปล่อยให้สังคมคาดหวังแพทย์ที่มีอุดมการณ์ และยังเรียกร้อง หรือส่งเสริมการใช้บริการสุขภาพโดยไม่ถูกวิธี (เช่นไม่มีการจ่ายร่วม แม้จะมีกำลังจ่าย ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า) ทำให้แพทย์ส่วนหนึ่งหมดกำลังใจ และหันเหไปสู่หนทางที่จะสะดวก ปลอดภัย คุณภาพชีวิตที่ดี ค่าตอบแทนพอเหมาะ ใกล้ญาติ ใกล้บ้าน มากกว่าจะไปอยู่ในถิ่นที่ห่างไกลเหล่านั้น

สำหรับเรื่องเอาทุนหรือต้นสังกัดมานั้น อาจจะต้องโทษหมอที่ไปเอาทุนมาจริงๆ เพราะ เมื่อมีการขอทุนไปที่กระทรวง ก็เพราะมีความหวังหรือแผนที่จะมีหมอมาช่วยงาน แต่พอถึงเวลาก็กลับอยู่ไม่ได้ และขอลาออกไป (หลายคนวางแผนไว้แต่ตอนขอแล้วด้วยซ้ำ) ซึ่งก็อาจจะอย่างที่บอกไว้ว่า เพราะอยู่ไม่ได้ ไม่อยากตรวจทั่วไปแล้ว อันนี้ก็แสดงว่า การจัดสรรทุนไม่เหมาะสม ถ้าโรงพยาบาลยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญพอ หมอก็ต้องตรงจทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ก็ควรดูให้ดี ปัจจุบันการจัดสรรยังใช้ระบบจีพีเอสที่เน้นเรื่อจำนวน ยังไม่ได้ดูลงไปว่าหมออะไร ต้องการเท่าไร โรงพยาบาลกี่เตียง ควรมีผู้เชี่ยวชาญระดับไหน พอเป็นอย่างนี้ก็ไม่แปลกที่ลาออกกันไป

แพทย์หลายคนทีมีอคติต่อแพทย์เอกชน หรือบางทีก็เลยเถิดไปอคติอาจารย์โรงเรียนแพทย์ และพยายามชักจูงให้แพทย์อยู่กับชนบทให้มากขึ้น แต่แพทย์เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็อยู่ในกระทรวง ทำงานที่นนทบุรี ไม่ใช่หมอชนบทที่แท้จริง มูลนิธิแพทย์ชนบท ถ้าต้องการให้มีบทบาท ที่เหมาะสม ก็ควรเป็นแพทย์ในชนบทเหล่านั้น ที่ทำงานที่เห็นค่าของการทำงานในชนบท ได้ออกมาพูดแลกเปลี่ยนทัศนคติ และชี้ให้เห็นความก้าวหน้าในการทำงาน ประโยชน์ที่ได้จากการทำงาน เพราะแพทย์ก็คือมนุษย์ คือ คนที่ต้องการไม่ใช่แค่เงิน (ที่ชอบกล่าวหากัน) แต่ก็ต้องการโอกาสก้าวหน้าในการงาน โอกาสที่จะได้ทำประโยชน์ และก็ต้องมีเครื่องสนับสนุนมนุษย์ปุถุชน คนหนึ่ง ให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับการทำงานนัก ตรวจคนไข้วันละสองร้อยคน มันไม่มีทางที่จะมีคุณภาพ

ส่วนบทบาทของโรงเรียนแพทย์ในการปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ ในอนาคต โรงเรียนแพทย์ใหม่ ที่เป็นสถาบันในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คงเข้ามามีบทบาทตรงนี้ เพราะแพทย์เหล่านั้นจะได้ฝึกงานในโรงพยาบาลจังหวัด โณงพยาบาลชุมชนในสภาพจริง และเห็นผล จริง ส่วนโรงเรียนแพทย์ใหญ่ๆ เดิม ที่คนมักจะว่า หมอที่จบจากโรงเรียนแพทย์เหล่านี้รักสบาย ไม่ยอมไปชนบท ผมว่าไม่แฟร์กับนักเรียนเหล่านี้ เพราะโรงเรียนแพทย์ใหญ่เหล่านี้เองก็ไม่ได้ตอบโจทย์ของประเทศ เทรนในระบบที่ดี ที่ทันสมัย จนเด็กนำไปประยุกต์ไม่ได้ เมื่อเจอสภาวะแบบนั้น เด็กก็เหมือนกดดันให้ประกอบเวชกรรมแบบไม่ตรงตามที่ตนรับรู้ ก็คับข้องหมองใจ อันนี้เป็นเหตุที่หมออินเดีย หรือ หมอฟิลิปปินส์ ต้องไปเรียนหรือไปทำงานในอเมริกา กันเยอะ (ตามที่ หน่วยงานด้านวิเคราะห์หมอจากต่างประเทศของอเมริกา เขาคิดไว้) แตผมคิดว่า บทบาทของนักเรียนในโรงเรียนแพทย์ใหญ่เหล่านี้ อาจจะไม่ได้มองที่แค่ว่ามีหมอไปทำงานในชนบทก็ได้ เขามีศักยภาพที่จะเป็นฝ่ายผลิตองค์ความรู้ อาจจะเหมาะกับวิชาการ แต่ต้องสอนเน้นให้เขาทำวิชาการที่ตอบโจทย์ประเทศด้วย ไม่ใช่วิชาการแบบขึ้นหิ้ง ซึ่งตรงนี้ มหาวิทยาลัยแพทย์ในต่างจังหวัด เช่น ขอนแก่น ทำได้ดี (เรื่องเมลลิออยโดสิส) หรือ เชียงใหม่ (เพนนิซิลเลียม และเอดส์) จุฬา ทำได้ดี เรื่องคุมกำเนิด ได้รับการชมเชยจากองค์การอนามัยโลก และปัจจุบันโครงสร้างประชากรเราเป็นแบบประเทศเจริญแล้ว หรือเรื่องพิษสุนัขบ้า ที่ทำให้การฉีดวัคซีนได้รับการยอมรับ หรือศิริราชที่ทำได้ดีเรื่องโรคธาลัสซีเมีย โรคเลือดจางพันธุกรรมที่พบบ่อยที่สุด มีการตรวจคัดกรองกันทั่วประเทศ เหล่านี้เป็นต้น รามาธิบดี เคยเข้าไปแก้ปัญหาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่เกิดจากการขาดอาหารโปรตีนในเด็กอีสาน และยังมีเรื่องภาวะโภชนการอีกหลายอย่าง อย่ามองตื้นๆ แค่มีหมอให้พอ แต่ให้มีหมอที่มีคุณภาพด้วย ต้องพัฒนากันทุกฝ่าย อย่ามีอคติ ต่อหมอด้วยกันเอง แม้กระทั่งหมอเอกชน ถ้าโรงพยาบาลเหล่านั้นพัฒนาจนเป็นเมดิคัลฮับ (โดยที่แพทย์กระจายตัวเหมาะสมดีแล้ว) ก็เป็นการนำรายได้ จากการรักษาพยาบาลเข้าประเทศ ยกระดับการแพทย์ และนำคนมาท่องเที่ยวเพิ่ม เป็นหน้าเป็นตา ตอนนี้ มันเป็นหัวแตกทุกวงการเท่านั้นเอง เพราะพัฒนากันอย่างไฟไหม้ฟางมานาน การเมืองก็ไม่เสถียร แก่งแย่งกันในกระทรวง นอกกระทรวง

ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ไข พัฒนาการศึกษา สาธารณสุข และกระจายความเจริญ แก้ปัญหาแก่งแย่ง ในวงการ และนอกวงการ พวกรุกรานวงการแพทย์ อย่างไม่ค่อยจะมีเหตุผล (สนับสนุนเรื่องเยียวยาผู้เสียหาย แต่ต้องมีเหตุผลไม่ใช่สะเปะสะปะ ตามที่เรียกร้องมา) รอให้รัฐบาลนิ่ง เห็นประโยชน์ประชาชนจริงๆ มากว่าหาเสียง (สามสิบบาท ทำลายระบบสาธารณสุข เพราะชิงสุกก่อนห่าม) มากกว่าจะปล่อยให้หมอไปทำงานในสภาพที่อนาถาแบบนั้น ซึ่งไม่เกิดผลดีทั้งต่อหมอและคนในท้องถิ่นเหล่านั้นเลย ผมพยายามพูดให้เห็นภาพจริง ว่าแต่ละฝ่ายจะต่างคิดแต่เรื่องของตัวไม่ได้ กระทรวงหรือพวกชมรมแพทย์ชนบท(ที่ตัวอยู่ในกทม) จะมาอ้าง แต่เรื่องอุดมการณ์ไม่ได้ ต้องมองว่าจะต้องพัฒนาตอ้งทำอะไรให้เขาอยู่ได้ แพทย์จะมาอ้างว่าขอให้ได้มาเรียนก่อน เอาทุนมาก่อน เดี๋ยวค่อยไปลาออก ก็ไม่ถูก เพราะทำความเสียหายให้ระบบอย่างมาก จะขอทุนก็ขอที่ที่อยู่ได้ คิดว่าจะกลับไปจริงๆ อย่างน้อยก็ตามระยะเวลาที่กำหนด จะขยับขยายก็ว่ากันไป ประชาชน ก็ต้องใช้บริการเมื่อจำเป็น ดูแลตัวเองให้มีสุขภาพ อนามัยดี (รัฐก็ต้องจัดการปากท้อง และหัวสมองให้เขามีข้าวกิน ให้เขาได้เรียนหนังสือ)

ประเทศไทย คงเจอปัญหาขาดแคลนแพทย์ การกระจายแพทย์นี้ไปอีกนาน (ตอนนี้ นโยบายหันมาทางต้นน้ำ ผลิตแพทย์ปีละสองพัน คงหวังว่าเอกชน จะรับไม่ไหว เขาลืมไปหรือเปล่า ว่าคลินิกสกินโผล่เป็นดอกเห็ด และดีมานด์ก็สูงเสียด้วย กระเชอก้นมันรั่ว ต้องเอายามาอุด ไม่ใช่ยิ่งเทน้ำ เทของเข้าไปให้มันเสีย)

ลิ้งค์แสดงการจัดสรรบุคลากรแพทย์ ตามภูมิศาสตร์ http://imd.moph.go.th/gis/report/pop_officer.php

ลิ้งค์การจัดสรรทุนแพทย์ประจำบ้านของกระทรวงสาธารณสุขระบบสมัครแพทย์ประจำบ้าน ปีการศึกษา 2555 http://imd.moph.go.th/resident/ สามารถเข้าไปเช็คได้ ประมาณวันที่ 26 สิงหาคมเป็นต้นไป สำหรับปี 2555 ที่จะมาถึง

แผนภาพแสดงความขาดแคลนแพทย์เมื่อคิดตามจำนวนประชากรและสัดส่วนแพทย์ที่พึงมีในเขตต่างๆ จะเห็นว่าขาดแคลนมากทั้งประเทศ (คิดเฉพาะแพทย์ในระบบกระทรวงสาธารณสุข)

Thursday, August 18, 2011

กระแสอินดี้ อาจารย์โรงเรียนแพทย์ อาจารย์พรีคลินิก และอื่นๆ

คราวที่แล้ว เราว่ากันถึงกระแสหลักของแพทย์ที่จบ พ บ ในเมืองไทย (จริง ก็คงเหมือนๆ กันเกือบๆ จะทั่วโลกแล้ว) ก็คือ ดูตัวเอง ว่าจะเป็นหมอทั่วไป หรือ หมอเฉพาะทาง และจะเทรนที่ไหน เมื่อไหร่ พอจบ ก็ว่ากันไป จะอยู่โรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน หรือมีคลีนิกส่วนตัว หรือ จะควบสองกะ สามกะ

แต่ก็ยังมีหมอ น่าจะประมาณร้อยละสิบ ไม่เลือกกระแสหลัก แต่อยากจะเป็นอินดี้ ก็เลยเลือกที่จะไปอยู่ตามที่แปลกๆ เช่น เป็นอาจารย์พรีคลินิก หรือ เป็นอาจารย์ใรงเรียนแพทย์ ในภาคคลินิก แต่พวกนี้ก็เหนื่อย บางทีก็วิ่งรอก คลินิก หรือ โรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้พอเลี้ยงปากท้องและครอบครัว แต่ก็รักจะสอน จะวิจัย เป็นสำคัญ (อันนี้สำคัญมากนะครับ สำหรับคนที่อยากจะเข้ามาตรงนี้) แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปหน่อย ทุกวันนี้ เพราะนโยบายเพิ่มแพทย์ ทำให้มีการรับนักเรียนเพิ่มขึ้น และสถานที่ฝึกงานจึงต้องเพิ่มขึ้น หลายโรงพยาบาลกลายเป็นสถาบันสมทบผลิตแพทย์เพิ่มไป หมอในโรงพยาบาลนั้นก็กลายเป็นอาจารย์แพทย์ไปในตัว ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ต่อการผลิตแพทย์ และต่อแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลนั้นๆ ถ้าด้วยความที่ไม่อยากจะสอน ไม่อยากจะทำ กลายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น แค่ไอ้งานคุณภาพที่บูมมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ก็จะกลายเป็นอยู่ไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งโรงเรียนแพทย์ใหม่แห่งหนึงในภาคเหนือตอนกลาง ประสบมา ตอนก่อตั้งใหม่ๆ

อาจารย์พรีคลินิก หรือบางคนอาจจะไปอยู่ในคณะที่เป็นวิทยาศาสตร์เลย ก็มี เช่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งไม่ได้จำกัดแต่สอนแพทย์ หรือ คณะวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่ไม่ขึ้นหรือเกี่ยวกับคณะแพทย์เลย หรือเป็นหน่วยงานที่ทำวิจัยเป็นหลัก เช่น คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ สถาบันวิจัยต่างๆ แต่อย่างไรก็ดี ก็มีความจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมหรือศึกษาเพิ่มเติม แต่อาจจะเป็นในรูปแบบที่ต่างออกไป เป็นการฝึกอบรมเน้นวิจัย เช่น เรียนปริญญาเอก แต่ก็มีหลายคนที่ฝึกอบรมแบบกระแสหลัก และด้วยชอบงานวิจัย และงานสอน หรือหาตำแหน่งในภาคคลินิกไม่ได้ (แต่ก็ควรจะชอบสอนและวิจัยนะ) ก็เลยอยู่ภาคพรีคลินิก และอาจจะมีงานคลินิกควบคู่ไปด้วย ก็มีให้เห็นประปราย

อาจารย์ในภาคคลีนิก มักจะต้องได้รับการอบรมเพิ่มเติมพิเศษจาก การอบรมทั่วไป อย่างน้อย ก็ต้องเป็นอนุสาขาในประเทศ แต่มักจะต้องไปรับการฝึกอบรมเพิ่มเติมโดยเฉพาะการวิจัย ในต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้ตายตัว บางคนก็อบรมในประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยแพทย์ใหม่ๆ ที่อาจจะแค่ขาดผู้เชี่ยวชาญในอนุสาขา ยังไม่ได้มีการลงลึกหรือเน้นงานวิจัยมากนัก บางคนก็เทรนในต่างประเทศแล้วกลับมาทำงานในโรงเรียนแพทย์ก็มี บางท่านได้รับตำแหน่งวิชาการมาจากต่างประเทศเลยเสียด้วยซ้ำ

ผมยังไม่ได้พูดถึงพวกหมอทหาร ซึ่งเขาก็มีการใช้ทุน แต่เป็นโรงพยาบาลของเขาเอง และระบบการขอทุน การกลับมาเรียนก็จะเป็นวงของเขาเอง ถ้าเขาต้องการเทรนในสังกัดและอยู่ในโรงพยาบาลสังกัดของเขาเอง คนนอกก็เข้าไปในระบบได้ มีหลายคนที่รู้จักก็ไปใช้ทุนในโรงพยาบาลทหาร และเอาทุนมา ก็อาจจะถูกจัดสรรไปทำงาน ในโรงพยาบาลทหารในระดับต่างกัน แต่มักจะเป็นเรื่องของตำแหน่งในสายทหาร อาจจะมีอิทธิพลมากกว่าความจำเป็นทางวิชาการ อย่างคนที่ผมเคยรู้จัก ก็เป็นหมอผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ เอาทุนมาจากต้นสังกัด และสมควรกลับไปเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ทหาร แต่กลับต้องไปอยู่ในโรงพยาบาลในต่างจังหวัดอยู่หลายปี ก่อนได้ย้ายกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ อันนี้ก็ต้องดูทางหนีทีไล่กันอย่างหนักหน่วง เลย เพราะสายทหารนี่เขี้ยว และเส้นสายหนักไม่ใช่เล่น ถ้าพูดกันตรงๆ หาทุนกลับมาเรียนค่อนข้างยากตามที่ได้ยินมา และแบ่งเส้น เป็นทหารแต่ละเหล่าทัพอีก แต่ใครอยากมียศ เป็นทหาร ก็ดูโก้ เก๋ เป็นทางเลือกที่ดี และเป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด

หน่วยงานสังกัดอื่นๆ ที่น่าสนใจ ก็ยังมี ของ กรุงเทพมหานคร ซึ่ง ก็มีงานใช้ทุนในสำนักอนามัย กรุงเทพ ซึ่งถือว่าค่อนข้างเบา และมีทุนให้ไปเรียน ใช้ทุนในโรงพยาบาลในสังกัดของกรุงเทพมหานคร เช่น โรงพยาบาลนพรัตน์ โรงพยาบาล ตากสิน เป็นต้น

งานระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
และงานอื่นๆ ในกระทรวง บทบาทด้านสาธารสุขของแพทย์
อีกทางเลือกของแพทย์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องตรวจโรค
อีกสายหนึ่งคือ สายงานในกระทรวงสาธารณสุข อันนี้ก็มีน้องๆ ที่รู้จักใช้ทุนโดยไปทำงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวง (แต่ไม่แน่ใจในรายละเอียดครับ ไว้จะลองถามดู) เช่น กองระบาดวิทยา หรือหน่วยงานอิสระ เช่น สำนักวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งก็มีทุนให้เรียนต่อ ซึ่งอาจจะทำปริญญาเอกด้านระบาดวิทยา หรือ ด้านสาธารณสุข หรือบริหาร ก็ว่ากันไป และกลับไปเติบโตต่อในกระทรวง บางคนก็ไปโตในสายสาธารณสุขจังหวัดในที่สุด และก็เข้ากระทรวงมาเป็นอธิบดี สิ้นสุดที่ปลัดกระทรวง ซึ่งต้องทำงานภายใต้นโยบาย ฉวัดเฉวียนเปลี่ยนไปมาตามรัฐมนตรีแต่ละคน แต่ละรัฐบาล ก็เป็นงานที่ท้าทายน่าสนุก และได้ทำอะไรให้ประเทศชาติ เช่นเรื่องประกันสุขภาพ งานด้านเวชศาสตร์ป้องกัน เฝ้าระวัง ซึ่งประเทศไทย ก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง คนที่ชอบงานลักษณะนี้ ก็อาจจะดูไว้เป็นทางเลือกอันหนึ่งได้

สำหรับทางเลือกอื่นของชีวิต ก็คงไม่จำกัด หมอจะไปทำอะไรก็ไม่แปลก จะเป็นนักกฎหมาย ผู้พิพากษา (เพื่อนผมสอบได้เนติบัณฑิตไทยแล้ว) จะไปเป็นนักธุรกิจ (เช่น คุณหมอเจ้าของกิฟฟารีน ที่แยกมาจากธุรกิจสุพรีเดิร์ม) หรือเข้าวงการบันเทิง (เช่น หมอก้อง ดาราช่องสาม) หรือเล่นการเมือง (ไม่อยากจะเอ่อยนาม อ้อ มหาธีร์ นายกมาเลเซียก็แล้วกัน) หรือ นักวิชาการอิสระ (หมอประเวศ) หรืออะไรก็ทำได้ทั้งนั้นเลยครับ แต่ขออย่างเดียว อย่าใช้ความเป็นหมอทำให้วิชาชีพเสื่อมเสีย เท่านั้น (เหมือนที่บางคนชอบทำอยู่) ถ้าจะทำอะไรที่มันไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นหมอ ก็อย่าได้ใช้ชื่อ ใช้อะไรที่ให้คนคิดว่าเป็นหมอเลยครับ

หมอก้อง บัณฑิตจาก พระมงกุฎ ดาราช่องสาม


กระแสหลัก อบรมเป็นแพทย์เฉพาะทาง

ปัจจุบัน พบว่า ร้อยละแปดสิบของแพทย์ที่จบมา จะเข้าสู่การอบรมแพทย์เฉพาะทาง (specialist tract)สาขาใดสาขาหนึ่ง เหลือแพทย์เพียงร้อยละยี่สิบที่คงทำงานเป็นแพทย์ทั่วไป(generalist tract) โดยไม่เข้าอบรมในสาขาใดสาขาหนึ่ง แต่จากที่กล่าวไว้ตอนที่แล้วว่า ความจริงแม้จะเป็นแพทย์ทั่วไป ก็ควรที่จะได้เข้ารับการอบรมเพิ่มเติมเพื่อเป็นแพทย์ทั่วไป อย่างที่ทำในอังกฤษ อเมริกา หรือประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน ของอังกฤษก็คือ แทรคจีพีหรือเจเนอรัลแพรคทิชันเนอร์ (general practitioners) ส่วนอเมริกา ก็คือสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว (family medicine) ซึ่งปัจจุบันไทยเราก็มีการอบรมในสาขานี้แล้ว แต่ไม่ได้บังคับว่าแพทย์ทุกคน ถ้าไม่เลือกเฉพาะทางอื่น แล้วก็ต้องเลือกอันนี้ และไม่มีระบบเฉพาะทางและผู้เชี่ยวชาญในการส่งต่อที่ชัดเจนเหมือนที่ควรจะมีจะเป็น

แต่เมื่อไม่กี่ปี (จริงๆ ก็นานอยู่) เพื่อให้แพทย์ออกไปใช้ทุนให้ครบ (เพื่อแก้ปัญหาการกระจายของแพทย์ไม่เหมาะสม) ก็มีความพยายามออกกฎในการเข้ารับการอบรมแพทย์เฉพาะทางในประเทศไทย โดยแพทยสภา เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นของแต่ละสาขาด้วย โดยแบ่งเป็นสาขาขาดแคลนที่สามารถเข้ารับการอบรมได้เลย และสาขาที่ต้องใช้ทุนให้ครบก่อน แต่ที่บังคับถ้าต้องการอบรมในประเทศคือจะต้องผ่านการฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะ (Internship) เป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งก็คือ การออกไปอยู่ที่โรงพยาบาลทั่วไป (หรือโรงพยาบาลศูนย์) และผ่านวอร์ดสำคัญๆ คือ อายุรกรรม กุมาร สูติ นรีเวช และ ศัลยกรรม (ส่วนใหญ่ก็จะมีออร์โธ พ่วงมา) มีการประเมินโดยแพทย์ประจำ และออกหนังสือให้ ก็เท่ากับว่า แพทย์ไทย ต้องผ่านการอบรมในปีแรกเป็นอย่างน้อย แม้จะเป็นแพทย์ทั่วไป ไปตลอด และไปอยู่โรงพยาบาลชุมชนในเวลาต่อมา ก็นับว่ามีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ถ้าแพทย์นั้นไม่สนใจจะเทรนในประเทศ การเพิ่มพูนทักษะนี้ก็ไม่มีความจำเป็น แต่จำนวนแพทย์ตรงนี้ยังนับว่าน้อยอยู่ ไม่ได้มีผลกระทบต่อภาพรวม แพทย์เอกชน (ซึ่งปัจจุบันมีที่เดียวคือ ม รังสิต) จะมีปัญหาแตกต่างกับแพทย์จากรัฐบาล คือไม่ต้องใช้ทุน ก็จะต้องหาที่ไปเพิ่มพูนทักษะกันจ้าละหวั่น เพื่อให้สามารถเข้ามาเทรนได้ในภายหลัง


แต่แพทย์จะลาออกกันมากเรียกว่าเกือบครึ่ง ภายในปีสอง หรือ ปีสาม เพื่อเข้ามาอบรมหรือ ลาออกไปทำคลินิก หรือ อยู่เอกชนอะไรก็ตามที อันนี้ มีปัญหาแน่นอน ส่วนพวกที่อยู่ต่อ ก็อาจจะเพื่อเอาทุน มาเพื่อฝึกอบรม ซึ่งมักจะกล่าวว่า โอกาสจะได้รับเลือกให้เรียนมากกว่า เป็นพวกไม่มีต้นสังกัด (อิสระ) ซึ่งจริงเท็จประการใด เราคงมาดูอีกที แล้วก็อาจจะกลับไปใช้ทุนหรือไม่ ก็มี ที่แน่ๆ ก็คือ ตอนนี้ ผุ้เชี่ยวชาญเริ่มเยอะกว่าหมอทั่วไป (ซึ่งมีแต่หมอจบใหม่ และใช้ทุนอยู่ พอพ้นระยะใช้ทุน ก็ตะเกียกตะกายมาหาความรู้เพิ่ม) และการกระจายกระจุกในเมืองใหญ่ (หากินง่ายกว่า ใกล้บ้าน ใกล้ครอบครัว และอีกหลายสาเหตุ)  การเลือกเส้นทางเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และแต่ละคนก็มีเหตุผลต่างๆ กันไป ไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครถูก ใครผิด แต่สัญญาที่ทำไว้ ก็มีผลต่อจำนวน อัตรา แผนบุคลากรในภาพรวมที่ตามมาภายหลังได้ ดังนั้น ผมก็ยังสนับสนุนให้ทำตามสัญญาที่ไปทำเอาไว้ ถ้าใจและกายไม่ได้อยากอยู่ตั้งแต่ต้น คือกะมาเรียนแล้วชิ่งแน่ ก็อย่าทำเลยครับ แต่ถ้ามันสุดวิสัย ย้ายตามคู่สมรส ปัญหาการเงิน ที่อยู่ หรืองาน อันนี้ก็สุดแล้วแต่ ต้องคิด ต้องว่ากันเป็นรายๆไป

เอาล่ะ สำหรับสาขาที่มีการอบรมแพทย์ประจำบ้านโดยไม่ต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะ เพราะขาดแคลนก็มีดังนี้
                    ( ๑ ) กุมารเวชศาสตร์โรคเลือด
                    ( ๒ ) จิตเวชศาสตร์
                    ( ๓ ) จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
                    ( ๔ ) นิติเวชศาสตร์
                    ( ๕ ) พยาธิวิทยากายวิภาค
                    ( ๖ ) พยาธิวิทยาคลินิก
                    ( ๗ ) พยาธิวิทยาทั่วไป
                    ( ๘ ) รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
                    ( ๙ ) เวชศาสตร์ครอบครัว
                    ( ๑๐ ) เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
                    ( ๑๑ ) เวชศาสตร์นิวเคลียร์
                    ( ๑๒ ) อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
                    ( ๑๓ ) อายุรศาสตร์โรคเลือด

ส่วนสาขอื่นๆ ทีมีอบรมในประเทศไทย ต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะ และหรือ ใช้ทุนให้ครบก็ได้แก่
          ( ๑ ) กุมารเวชศาสตร์
          ( ๒ ) กุมารศัลยศาสตร์
          ( ๓ ) จักษุวิทยา
          ( ๔ ) ตจวิทยา
          ( ๕ ) ประสาทวิทยา
          ( ๖ ) ประสาทศัลยศาสตร์
          ( ๗ ) รังสีวิทยาทั่วไป
          ( ๘ ) รังสีวิทยาวินิจฉัย
          ( ๙ ) วิสัญญีวิทยา
          ( ๑๐ ) เวชศาสตร์ป้องกัน ( แขนงระบาดวิทยา )
          ( ๑๑ ) เวชศาสตร์ป้องกัน ( แขนงเวชศาสตร์การบิน )
          ( ๑๒ ) เวชศาสตร์ป้องกัน ( แขนงเวชศาสตร์ป้องกันคลินิก )
          ( ๑๓ ) เวชศาสตร์ป้องกัน ( แขนงสาธารณสุขศาสตร์ )
          ( ๑๔ ) เวชศาสตร์ป้องกัน ( แขนงสุขภาพจิตชุมชน )
          ( ๑๕ ) เวชศาสตร์ป้องกัน ( แขนงอาชีวเวชศาสตร์ )
          ( ๑๖ ) เวชศาสตร์ฟื้นฟู
          ( ๑๗ ) ศัลยศาสตร์
          ( ๑๘ ) ศัลยศาสตร์ตกแต่ง
          ( ๑๙ ) ศัลยศาสตร์ทรวงอก
          ( ๒๐ ) ศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา
          ( ๒๑ ) ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์
          ( ๒๒ ) สูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
          ( ๒๓ ) โสต ศอ นาสิกวิทยา
          ( ๒๔ ) อายุรศาสตร์

แล้วก็เป็นพวกสาขาสับบอร์ด อันนี้ต้องผ่านอบรมแพทย์ประจำบ้านในสาขาหลักเสียก่อน ถึงจะไปสมัครเรียนได้ อันนี้ก็ต้องอับเดทกับเกณฑ์ของแพทยสภา http://www.tmc.or.th/detail_doctor.php ไปในแต่ละปี และก็ต้องเข้าไปดู ไปถาม หรือ โทรไปจิก ถามรายละเอียดในที่ที่ตนสนใจ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเอาเอง แพทยสภาเป็นหน่วยงานกลางในการจัดสรรว่าจะเปิดอบรมที่ไหนได้กี่ตำแหน่ง และมีข้อมูลส่วนกลาง แต่การรับสมัคร ต่างๆ จะทำกันเอง ไม่ได้มีหน่วยกลางอย่าง อเมริกา ที่แมทช์รวมกันทั้งประเทศ (แต่กำหนดเปิด สมัคร สัมภาษณ์ อะไร ก็ทำกันเอง) เพราะฉะนั้น ก็ต้องหาข้อมูลกันดีๆ และมีเส้นสาย (หมายถึงรู้จักมักจี่กันมาก่อน หรือเรียกว่า ลูกหม้อ ก็ง่ายกว่าเป็นธรรมดา) และมีอีกหลายๆ อย่างที่ต้องคำนึง ไว้มาว่ากันต่อไป


แต่วันนี้อยากให้เห็นภาพกว้างๆ ว่า มีอะไรให้เลือกบ้างในประเทศ สำหรับ การจะเป็นแพทย์เฉพาะทาง (ซึ่งล้นแล้ว) และการจะเลือกเรียนอะไร มีความสัมพันธ์กับการวางแผนใช้ทุนอย่างไร ซึ่งอันนี้สำคัญมากเพราะบางสาขาบอกว่า จะต้องปฏิบัติงานมาแล้วกี่ปี อะไรทำนองนี้ (เช่น จักษุ หรือ ตจวิทยา) จะลาออกมาก็ยังมาเรียนไม่ได้อยู่ดี (ไม่ได้ส่งเสริมให้ลาออกนะ แค่บอกว่ามันมีทางเลือกแบบนี้ ก็ลองดู) ถ้าใช้ทุนจนครบ ก็มักไม่มีปัญหาในการเลือกเรียนในสาขาต่างๆ แต่สำหรับผู้สนใจสาขาขาดแคลน ก็สามารถมาเรียนได้เลย ก็เป็นทางเลือกที่ดี สำหรับคนที่อยากปิดสมอง (ไม่จริงหรอก เพราะเป็นหมอก็ต้องใช้สมองแหละ) โดยเร็ว จะได้ทำงานทำการเสียที แต่จริงๆ คือ จะบอกว่า กรุณาดูสาขาที่เรียนด้วย ว่าอยากเรียนจริงหรือไม่ เพราะอะไร เอาเป็นว่า ยังไม่พูดว่า จะเลือกอะไรยังงัย เอาเป็นว่า ให้รู้ว่ามีอะไรให้เลือกบ้างก็แล้วกันนะครับ

 

Proportions of medical specialists to general practitioners in Thailand is increasing up to nearly 80% in 2006.

ลิ้งค์การจัดสรรทุนแพทย์ประจำบ้านของกระทรวงสาธารณสุขระบบสมัครแพทย์ประจำบ้าน ปีการศึกษา 2555 http://imd.moph.go.th/resident/ สามารถเข้าไปเช็คได้ ประมาณวันที่ 26 สิงหาคมเป็นต้นไป สำหรับปี 2555 ที่จะมาถึง

Friday, August 12, 2011

หนทางชีวิต Career Paths of Thai Medical Doctors

สำหรับคนที่ได้เข้ามาเรียนแพทย์นั้น บางคนตั้งใจไว้แล้วด้วยซ้ำว่าจบไปแล้วจะไปทำอะไร เป็นหมออะไร ทั้งที่ตัวเองก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเหมาะหรืออยากที่จะทำหรือใช้ชีวิตอย่างนั้นหรือไม่ เพราะก็ไม่ได้รู้ว่าหมอด้านนั้นเขาทำงานกันหนักหนาสาหัสแค่ไหน เหมือนที่เคยเห็นตามข่าวเชิงโฆษณาที่มีหมอคนหนึ่งบอกว่าอยากเป็นหมออายุรกรรม แต่อ้างว่าพ่อป่วยอยากอยู่ดูแลพ่อก็เลยไปเรียนป โท เพื่อเป็นหมอรักษาโรคผิวหนังแบบเชิงความงาม ไม่ได้การรับรองจากสมาคมแพทย์เฉพาะทาง
บางคนก็ตรงกันข้ามคือใช้ชีวิตไปวันๆจนจบหมดสิ้น ก็ยังไม่รู้ตัวเองว่าอยากเป็นอยากทำอะไร แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นพวกที่ศึกษาหาข้อมูลความถนัดและความชอบเมื่อได้มีโอกาสผ่านวอร์ดนั้นๆ และบวกลบสารตะกับไลฟ์สไตล์ที่ตัวเองและครอบครัวโอเค คูณหารกับรายได้และโอกาสทำงาน ออกมาจนได้
อย่างไรก็ดี ความชอบ ความถนัดและความเหมาะสมของตนเองกับสาขาที่ตนเลือกนั้นกลับไม่ค่อยเป็นอะไรที่เราพูดถึงกันมากนัก บ่อยครั้งจะได้ยินอะไรทำนอง เรียนเมดเพราะไม่รู้จะเรียนอะไรดี ไม่ชอบผ่าตัด ไม่ชอบเด็ก หรืออยากผ่าตัดมันเท่ มันดิบ ไม่พูดมากอะไรก็ว่าไป

พูดไปแล้วก็ไม่ใช่ความผิดของบรรดาแพทย์จบใหม่ซึ่งเดี๋ยวนี้มีปีละเป็นพัน เพราะโอกาสที่เขาจะได้รับรู้การทำงานของหมอต่างๆ ก็เท่าที่เห็นที่เจอก็น้อยนัก จะมีคนมาเล่ามาจัด คอร์สเวิร์ค หรือข้อมูลให้อ่านให้ค้นก็น้อยเต็มที ไม่เหมือน career advice ในอเมริกาหรืออังกฤษที่เด็กเขาได้รับรู้และมีการพูดถึงตลอดจน ข้อมูลมากมาย ทั้งการแข่งขัน และโอกาสต่างๆ

ที่พูดมานี้เป็นเพียงหนทางหนึ่งๆที่หมอทั่วไปอาจจะคิดถึง ว่าเรียนจบก็ต่อเฉพาะทาง แล้วก็เป็นหมอนั้นไปจนตาย จะเอกชนหรือรัฐบาลก็ว่าไป

ความจริงก็มีความตื่นตัวของหมออีกแบบคือหมอครอบครัวหรือหมอเวชปฏิบัติทั่วไปซึ่งในไทยเคยมีและบูมเล็กๆมานานก่อนผมเข้าเรียนแพทย์อีกแล้วก็ตายสูญไปมาคืนชีพอีกทีก็ สมัยสามสิบบาทที่เขาเลยคิดว่าหมอครอบครัวนี่น่าจะช่วยลดการใช้จ่ายไม่จำเป็นได้

จริงๆหมอไทยนี่น่ากลัวสุดในบรรดาหมอ เพราะจบหกปีมาจะให้ทำตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ ยิ่งสมัยโบราณ หมอจบใหม่มาเนี่ยต้องเปิดสมองระบายเลือดคั่งได้เลย ที่เขาเรียกเบอร์โฮล สมัยผมซึ่งหมอมีพอควร การฟ้อชร้องเยอะขึ้น คนก็ส่งหมอเฉพาะทางกัน หมอทั่วไปก็รักษาเบาหวาน ไขมัน ความดัน หอบหืด ถุงลมโป่ง ตามมีตามเกิดไป ผ่าคลอด ผ่าไส้ติ่งก็จะไม่ทำกันแล้ว ผมได้ผ่าใหญ่สุดก็กระเพาะทะลุ ไม่มีหมอศัลย์มาช่วยซะอีกตอนอินเทิร์น ก็เสียวไส้ดี ผ่าคลอดแฝดก็มี แต่อย่างน้อยก็มีหมอเฉพาะทางให้จิก ถ้าจนแล้วจนรอดไม่ไหวจริงๆ แต่ถ้าโรงพยาบาลชุมชนอันนี้ก็น่ากลัว ซีซ่าร์บลอคหลังแล้วตาย เขาก็ฟ้องเอาว่าหมอดมยาไม่มี ทำได้งัย หรือบลีดก็ไม่มีหมอสูทำฮิสเตอเรค อย่างนี้เป็นต้น ภาพรวมก็ไม่รู้ว่าคนไข้มันปลอดภัยขึ้นมั้ย รู้แต่ความสัมพันธ์หมอ คนไข้ แย่ลงมาก
เอาล่ะเอาเป็นว่าหมอกันกะหมอกิดเขาจบมาเขาต้องเลือกว่าจะเป็นหมอทั่วไปหรือหมอเฉพาะก็ต้องเรียนต่อทั้งนั้นไม่ได้เป็นหมอเต็มขั้นทำงานได้เลยแบบบ้านเรา

ทีนี้มันยังมีเรื่องใช้ทุนอีกที่ทำให้บ้านเรามีลักษณะพิเศษ ประหลาด น่าสมเพช น่าเห็นใจ มาเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตอีกอันหนึ่ง

บางคนคงสนใจไปเรียนเมืองนอกซึ่งผมจะเล่าในอีกบลอกหนึ่ง

แล้วก็ที่ลงสุดท้าย
ซึ่งอาจจะเป็นโรงพยาบาลสังกัดสาธารณสุข
โรงพยาบาลหรือมหาวิทยาลัยสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(อาจารย์มหาวิทยาลัยพรีคลินิกหรือคลินิก โรงพยาบาลสงฆ์)
กระทรวงกลาโหม(โรงพยาบาลทหาร)
กระทรวงมหาดไทย(โรงพยาบาลตำรวจ)
กระทรวงพาณิชย์(โรงพยาบาลยาสูบ)
กระทรวงคมนาคม(โรงพยาบาลรถไฟ)
สังกัดกทม(เช่นโรงพยาบาลนพรัตน์ ตากสิน)

หรือจะเป็นข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข

หรือจะเป็นหมอเอกชน ในโรงพยาบาล หรือ คลินิกส่วนตัวหรือโพลีคลินิก)

หรือจะเป็นนักวิจัยตามสถาบันวิจัย

หรือเป็นที่ปรึกษาบริษัทยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือบริษัทต่างๆ (เช่นหมออาชีวเวชศาสตร์)

หรือบางคนก็เป็นหมอตามสถานที่พิเศษ เช่น โรงแรม สนามบิน หรือแพทย์ประจำสำนักพระราชวัง

หรืออาจจะเป็นผู้บริหาร ลงทุนเปิดโรงพยาบาลซะเอง

หรือไปทำอะไรที่ไม่ต้องใช้ความเป็นหมอเลยก็ได้ เป็นนักธุรกิจ นักการเมือง นักต้มตุ๋น

หรือรวยจัดไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้

เห็นได้ว่าหมอจบมามีทางเลือกมากมายกว่าที่เราคิด แต่ด้วยประสบการณ์จำกัด ผมคงจะเล่าเฉพาะการเป็นหมอทั่วไปหรือ เฉพาะทาง อาจารย์โรงเรียนแพทย์ คลินิกหรือพรีคลินิก เรียนในไทยหรือต่างประเทศ เอกชนหรือราชการ ส่วนนอกนั้นคงสุดวิสัยจะใช้ประสบการณ์ส่วนตัว แต่จะหามาเล่าในอนาคตถ้ามีเวลา แต่เพือไม่ให้บทความมันยาวเยิ่นเย้อก็เลยต้องตัดตอนไปเล่าในครั้งต่อไป สวัสดีครับ




The diagram is come from the British medical career paths. Although somewhat different from our system such as general practitioners may not need any further training and there is no allocation to the rural hospitals for three years before back to further study in UK. The wide pictures of medical careers at the bottom of diagrams are the same globally that doctors can do more than just practitioners. We can do research, public health, management, pharmaceutical industry, and so on as you can imagine.
Medical Doctor Degree is just the beginning of your life. Open-mined and gathering the information of yourself and careers that you are going to choose are the important part of your success.

Thursday, August 4, 2011

การใช้ทุน และ การฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางในประเทศไทย

หลังจากเรียนจบแพทย์มาแล้ว (ติดตามเรื่องราวได้จาก บล็อก Medical Education of Thailand http://medicalthailand.blogspot.com/) ก็ต้องมาตัดสินใจกันว่าจะใช้ชีวิตการเป็นหมออย่างไรต่อไป จะเป็นหมอเฉพาะทางหรือหมอทั่วไป และจะเรียนอะไรที่ไหน กันอย่างไร ในประเทศไทยหมอจบใหม่ต้องคิดถึงเรื่องชดใช้ทุนเสียก่อน ที่คงมีเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและการกระจายตัวของแพทย์ไม่สม่ำเสมอ ไม่เหมาะสมอย่างเมืองไทย

บล็อกนี้จะเล่าเรื่องราวการตัดสินใจในการชดใช้ทุน และการคิดเรื่องฝึกอบรมเรียนต่อในประเทศไทย ซึ่งคงจะเล่าเรื่องราวของการเทรนอายุรศาสตร์เป็นหลัก แต่พอจบซีรี่ส์ไป ก็อาจจะหาข้อมูลการฝึกอบรมสาขาอื่นๆ มาเล่า ซึ่งอาจจะไปเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นมาเล่าให้เราฟังกัน

บล็อกนี้อาจจะเป็นประโยชน์คือบันทึกความทรงจำ ในแง่ประวัติศาสตร์เช่นความตั้งใจเดิมในบล็อกแรก และถ้ามีน้องๆ หมอๆ จะได้หลงเข้ามาอ่าน จะได้ข้อมูลช่วยในการตัดสินใจไม่มากก็น้อย รวมทั้งเรื่องราวขำๆ ฮาๆ โหดๆ ที่อาจจะอ่านเอาสนุกเอามัน สำหรับการฝึกอบรมและการเรียนแพทย์เฉพาะทางในต่างประเทศ จะมาเขียนต่อในบล็อกถัดไป ( Graduate Study in UK: http://thai-student-PhD-uk.blogspot.com/ และ USMLE and residency and fellowship training in USA: http://usmledentfellowus-for-Thai-doctors.blogspot.com/ )